“มันคือความมุทะลุ ความมุทะลุคือตัวตนของเรา มันเหมือนกับสิ่งที่เดวิดทำกับโกไลแอธ (ล้มยักษ์)” แจน เอส. แฟนบอลของแทร็บซอนสปอร์ กล่าว
แม้ว่าตุรกีจะมีสโมสรฟุตบอลกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทว่าความยิ่งใหญ่เกือบทั้งหมดกลับกระจุกตัวอยู่ที่มหานครอย่างอิสตันบูล ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “บิ๊กทรี” ของพวกเขา : กาลาตาซาราย เบซิคตัส และ เฟเนร์บาห์เช
อย่างไรก็ดีความรุ่งเรืองของทีมจากอิสตันบูลกลับมีสโมสรจากเมืองเล็ก ๆ ติดทะเลดำที่อาจหาญขึ้นมาต่อกรกับทีมยักษ์ใหญ่ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ชื่อของพวกเขาคือ แทร็บซอนสปอร์
ผู้ท้าทายอิสตันบูล ท่ามกลางพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลขนาดกว่า 7 แสนตารางกิโลเมตร แถมยังมีส่วนหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย แต่ตุรกีกลับมีเมืองหลักที่คอยขับเคลื่อนประเทศในทุกด้านอยู่เพียงเมืองเดียว นั่นคืออิสตันบูล
แน่นอนว่าไม่เพียงแต่ความเจริญจะกระจุกตัวอยู่ที่เมืองแห่งนี้ แต่ยังรวมไปถึงฟุตบอล กีฬายอดนิยมของตุรกี เมื่ออดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันแห่งนี้คือที่ฐานมั่นของยอดทีมอย่าง กาลาตาซาราย, เบซิคตัส และ เฟเนร์บาห์เช “บิ๊กทรี” แห่งวงการฟุตบอลแดนไก่งวง
เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งลีกอาชีพในปี 1959 สโมสรจากอิสตันบูลสามารถกวาดแชมป์มาครองรวมกันได้ถึง 61 สมัย และมีเพียง 7 ครั้งเท่านั้นที่ทีมอื่นได้ไปเชยชม ยิ่งไปกว่านั้นใน 10 ปีแรกของการก่อตั้งลีกก็แทบไม่มีทีมนอกอดีตกรุงคอนสแตนติโนเบิลเฉียดเข้าใกล้แชมป์เลยแม้แต่ครั้งเดียว
“กาลาตาซาราย เบซิคตัส และเฟเนร์บาห์เช เป็นทีมใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถสู้กับพวกเขาได้ การคว้าแชมป์มักจะตัดสินกันระหว่างสามทีมนี้เสมอ” ยาคุบ แฟนบอลชาวตุรกี
“สามสโมสรอิสตันบูลพวกเขามีอำนาจ สิ่งนี้ครอบงำลีกตุรกี และพวกเขาก็นำเสนอมันในฐานะความเข้าใจร่วมกัน เหมือนกับเป็นเรื่องปกติในชีวิต” แยนเซน เอส. แฟนบอลอีกคนกล่าวเสริม
“พวกเขาสามารถซื้อนักเตะคนใดก็ได้ สามารถล็อกผล กรรมการก็ปกป้องพวกเขา พวกเขาทำได้ทุกอย่าง”
อย่างไรก็ดีในช่วงทศวรรษที่ 1970s แทร็บซอนสปอร์ สโมสรที่ก่อตั้งโดยขนชั้นแรงงานจากเมืองแทร็บซอน เมืองเล็ก ๆ ติดทะเลดำทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของตุรกี ได้ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจของทีมจากอิสตันบูล พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ท้าชิงแต่กลับคว้าแชมป์ได้ถึง 6 สมัยในช่วงปี 1975-1984
“แทร็บซอนทะลุทะลวงเข้ามา ไม่ใช่สิ ต้องเรียกว่าทำลายอำนาจเหล่านั้น” แยนเซน ที่เป็นแฟนแทร็ปซอนสปอร์
“มันคือความมุทะลุ ความมุทะลุคือตัวตนของเรา มันเหมือนกับเดวิดกับโกไลแอธ (ล้มยักษ์)”
และมันก็ทำให้ทีมจากอิสตันบูลไม่ชอบหน้าพวกเขา
พายุแห่งทะเลดำ
“พวกเขาไม่ชอบเราเพราะเรามีความมุทะลุ ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามแต่ทำลายการยึดครองลีกตุรกีและฟุตบอลตุรกีของพวกเขา” แยนเซน
การมาถึงของแทร็บซอนสปอร์สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการฟุตบอลตุรกีในยุคนั้น เพราะพวกเขาเพิ่งจะก่อตั้งสโมสรในปี 1967 และใช้เวลาเพียงแค่ 8 ปีในการก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์ลีกสมัยแรกและอีก 5 ครั้งต่อจากนั้นด้วยนักเตะท้องถิ่น
แทร็บซอน ยังเป็นเมืองที่ไม่ได้ใหญ่เป็นอันดับ 2 หรือ 3 ของตุรกี แต่เป็นอันดับ 30 ของประเทศ แต่พวกเขากลับสามารถต่อกรกับทีมใหญ่จากอิสตันบูลได้อย่างกล้าหาญ จนได้รับฉายาว่า “พายุแห่งทะเลดำ”
“ตั้งแต่ปี 1970-1984 เวลาสโมสรจากอิสตันบูลมาที่นี่แล้วพวกเขาเสมอ นั่นคือความสำเร็จครั้งใหญ่สำหรับพวกเขาแล้ว” ผู้เกี่ยวข้องกับสโมสรที่ไม่ระบุนามกล่าว
นอกจากนี้แทร็บซอนสปอร์ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แฟนบอลที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นธรรมจากส่วนกลาง และทำให้พวกเขามีแฟนบอลอยู่ทั่วประเทศ
“ผมเกิดและเติบโตที่อังคารา (เมืองหลวงตุรกี) ผมเชียร์แทร็บซอนสปอร์มาตลอด ผมไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับทะเลดำเลย” อายเกน แฟนบอลของทีมกล่าวในสารคดี
“ผมคิดว่ามันคือการประท้วงต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เป็นการยืนหยัดต่อต้านกับกระแส ทุกคนรอบตัวผมเชียร์ทีมใหญ่ในอิสตันบูล และผมก็รู้สึกเหมือนกับว่าผมต้องยืนหยัด”
และมันก็ทำให้แฟนบอลของพวกเขามีตัวตนที่ชัดเจน ทั้งความกล้าได้กล้าเสีย ดื้อรั้น มุทะลุ และบ้าเลือด ที่บางครั้งอาจทำให้คนนอกเมืองแทร็บซอนมองว่าเป็นพวกสุดโต่งหรือหัวรุนแรง
“เราเป็น ‘เมืองหัวแข็ง’ เรารู้จักดีกับการมีจุดเดือดต่ำ” ยาคุบ ยอมรับ
“ตัวตนของแทร็บซอนผมจะไม่พูดถึงสโมสร ผมจะพูดถึงผู้คน บุคลิกนั้นค่อนข้างชัดเจน มันมีวัฒนธรรมที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าเลือด'” แยนเซน เสริม
“ดังนั้นคุณอาจจะตระหนักได้ว่าเรามีความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งมากและมีจุดเดือดต่ำ”
เหตุผลที่พวกเขาเป็นแบบนั้น แยนเซนบอกว่าอาจจะเป็นเพราะสภาพอากาศ แทร็บซอนเป็นเมืองชายฝั่งที่ด้านหลังเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน และทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงมีลมที่แรง
“เรามีทั้งภูเขาทั้งหมอกหนา หมอกในแทร็บซอนนั้นแย่มาก ที่นี่มีฝนตลอดทั้งปีแต่มันเป็นฝนปรอย ๆ และนั่นก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนและตัวตนของพวกเรา” แยนเซน อธิบาย
“เราโกรธง่าย โกรธแบบจริง ๆ แต่นั่นก็เป็นเพราะว่าแพชชั่นของพวกเราที่มีต่อสิ่งนั้น มันคือแนวทางขั้นสุดของเรา” ยาคุบ กล่าวต่อ
ทว่าความสุดขั้วของพวกเขาไม่ได้มีแค่นั้น
ท้องถิ่นนิยม
ด้วยความเป็นเมืองต่างจังหวัดทำให้คนในแทร็บซอนภูมิใจในผลผลิตของบ้านเกิด ทั้งอาหารทะเล น้ำผึ้ง หรือเฮเซลนัท และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงเอาเฮลเซนัทใส่ลงไปในโค้ก
“เราภูมิใจกับสิ่งที่เมืองของเราผลิตออกมาจริง ๆ เราเป็นเมืองแห่งเฮเซลนัท เราจึงเอาเฮเซลนัทใส่เข้าไปในโค้ก” ยาคุบ อธิบาย
พวกเขายังชื่นชอบเลข 61 ซึ่งเป็นรหัสไปรษณีย์ของเมืองเป็นพิเศษ หลายคนยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้เบอร์โทรศัพท์ขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วย 61 หรือบางร้านถึงขั้นเปลี่ยนปีที่ก่อตั้งจาก 1959 มาเป็น 1961 เพื่อให้มีเลขสองตัวนี้
“61 มันคือรหัสบนป้ายทะเบียนรถ รหัสไปรษณีย์ของเมือง และบางทีมันก็เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์” แยนเซน กล่าว
“ในเมืองแห่งนี้เลข 61 เป็นเหมือนไอดี มันคือตัวตนของเรา” อาเหม็ด ฟิริดิน นักข่าวท้องถิ่นเสริม
“คนอื่นอาจจะคิดว่ามันแปลก แต่แทร็บซอนเป็นเมืองที่ต่างออกไป”
นอกจากนี้เลข 61 ยังกลายเป็นตัวเลขที่คนในเมืองแทร็บซอนตั้งเป็นรหัสผ่านบัตรเอทีเอ็มมากที่สุด และทำให้เลข 1 และ 6 บนแป้นกดรหัสเลือนรางกว่าเลขอื่นอย่างเห็นได้ชัด
“เคยมีคนถ่ายรูปตู้เอทีเอ็มที่แป้นกดตัวเลขเลข 6 และเลข 1 รางมาก เพราะว่าทุกคนใช้เลขที่เกี่ยวกับ 61 เป็นรหัส” แยนเซน
“มันถึงขั้นธนาคารต้องติดป้ายว่า ‘เพื่อความปลอดภัย เราแนะนำให้คุณไม่เอาแพชชั่นที่มีต่อแทร็บซอนมาเป็นรหัสผ่านและเลือกใช้เลขอื่น'”
แน่นอนว่าอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาได้ไม่แพ้กัน นั่นคือ แทร็บซอนสปอร์ สโมสรฟุตบอลประจำเมืองที่ทำให้ สีแดงอมม่วง-ฟ้า สีประจำของสโมสรระบายอยู่ในทุกพื้นที่ของเมืองแทร็ปซอน ไม่ว่าจะตามท้องถนน ร้านค้า หรือผับบาร์
สีแดงอมม่วง-ฟ้า) เป็นสิ่งสำคัญของสโมสร คุณจะเห็นสีนี้อยู่ทุกที่ สำหรับเรามันเป็นสีที่สวยงาม” แยนเซน ให้ความเห็น
อย่างไรก็ดีช่วงเวลาแห่งความสุขของพวกเขาก็ถูกแช่แข็งไว้ที่ยุค 1980s เท่านั้น
ฤดูกาลที่ถูกขโมยไป
แทร็บซอนสปอร์ รักษาบัลลังก์เบอร์ 1 ของฟุตบอลตุรกีได้จนถึงกลางทศวรรษที่ 1980s เมื่อหลังจากนั้นพวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หลังต้องสูญเสียนักเตะไปให้ทีมใหญ่ที่จ่ายได้หนักกว่า
ไม่เว้นแม้แต่แฟนบอลของพวกเขาที่หลายคนต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่าด้วยการออกไปแสวงหาโชคนอกเมืองแทร็บซอนที่อาจจะเป็นเมืองใหญ่อย่างอิสตันบูลหรือต่างประเทศ ทั้ง เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมัน หรือฝรั่งเศส
และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้แฟนบอลของแทร็บซอนสปอร์กระจายตัวอยู่ทั่วยุโรป และทำให้พวกเขากลายเป็นสโมสรที่มีแฟนบอลอยู่นอกประเทศมากที่สุดเมื่อเทียบกับทีมจากตุรกีด้วยกันเอง ซึ่งพ้องกับสโลแกนของพวกเขา
ทุกที่คือแทร็บซอนสำหรับเรา แทร็บซอนอยู่ในทุกที่ และทุกที่คือแทร็บซอน” แยนเซน
อย่างไรก็ดีแทร็บซอนสปอร์ก็กลับมาได้อีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1990s และไปไกลถึงขั้นลุ้นแชมป์ในฤดูกาล 1995/96 หลังขึ้นนำเป็นจ่าฝูงในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ความพ่ายแพ้ในนัดปิดฤดูกาลก็ทำให้พวกเขาวืดแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย
“ผมคิดว่ามีแฟนบอล 3-4 คนที่ฆ่าตัวตายจากเหตุการณ์นั้น” อายเยน ย้อนความหลัง
หลังจากนั้นพวกเขาขยับเข้าใกล้แชมป์ลีกอีกครั้งในซีซั่น 2004/05 หลังจบในอันดับ 2 ของตาราง โดยมีแต้มตามหลังทีมแชมป์ เฟเนร์บาห์เช แค่ 3 แต้มเท่านั้น
แต่คงจะไม่มีครั้งไหนที่เจ็บปวดไปกว่าฤดูกาล 2010/11 ที่พวกเขาทำแต้มได้เท่ากับ เฟเนร์บาห์เช ทีมอันดับ 1 แต่ต้องวืดแชมป์เนื่องจากประตูได้เสียที่น้อยกว่า 4 ลูก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้พวกเขาผูกใจเจ็บมาจนถึงวันนี้
เพราะหลังจากการตัดสินแชมป์ผ่านไป 2 เดือนก็มีเรื่องช็อกวงการฟุตบอลตุรกีเกิดขึ้น หลัง ยาซิด เยลดิริม ประธานสโมสรเฟเนร์บาห์เช ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคดีล็อกผลบอล โดยมีหลักฐานทั้งเทปบันทึกเสียงและวิดีโออย่างชัดเจน
“มันมีหลักฐานว่ามีอย่างน้อย 8 เกมที่มีการล็อกผลการแข่งขัน” แยนเซน ย้อนความหลัง
เหตุอื้อฉาวดังกล่าวทำให้ ยูฟ่า สั่งแบนเฟเนร์บาห์เชจากการแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก พร้อมโอนสิทธิ์ให้แทร็บซอนสปอร์เจ้าของตำแหน่งรองแชมป์ และจะทำให้สโมสรจากเมืองแทร็บซอนขึ้นชื่อว่าเป็นแชมป์แทน
ทว่าเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลตุรกีออกมาบอกว่าหลักฐานที่เอามาใช้ได้มาด้วยวิธีที่ผิดกฏหมายทำให้เยลดิริมถูกปล่อยตัว และสุดท้ายสมาคมฟุตบอลตุรกีก็รับรองว่าเฟเนร์บาห์เชยังเป็นแชมป์เหมือนเดิม
“เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่การขโมย แต่มันยังเป็นการกระทำที่หยาบคาย มันไม่มีความยุติธรรมหลังจากนั้น” แยนเซน กล่าว
ฤดูกาลดังกล่าวเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนแทร็บซอนสปอร์ว่า “ฤดูกาลที่ถูกขโมยไป” และเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับความอยุติธรรมในแบบของพวกเขา
สโมสรจอมขบถ
หลังจากฤดูกาลสุดอื้อฉาว แทร็บซอนสปอร์ ก็ตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับส่วนกลางเพื่อตอบโต้ความอยุติธรรมที่ได้รับ มันกลายเป็นทศวรรษแห่งความวุ่นวายของพวกเขา
ในเดือนตุลาคม 2015 พวกเขาตกเป็นข่าวไปทั่วโลก หลัง อิบราฮิม ฮาซิออสมาโนกลู ประธานสโมสรแทร็บซอนสปอร์ ขังผู้ตัดสินและผู้ช่วยไว้ในห้องแต่งตัว หลังผู้ตัดสินไม่ให้จุดโทษพวกเขาในเกมที่เสมอกับ กาเซียนเต็บสปอร์ 2-2
เรื่องนี้บานปลายถึงขั้น เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ต้องโทรมาไกล่เกลี่ย ก่อนที่สุดท้ายทีมผู้ตัดสินจะถูกปล่อยตัวตอนตี 4 ของวันต่อมา ส่วน ฮาซิออสมาโนกลู ก็ถูกโทษแบนจากสมาคมฟุตบอลตุรกีไปตามระเบียบ
แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของแทร็บซอนสปอร์ เมื่อในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ซาริล เดอร์ซุน นักเตะของพวกเขาประท้วงผู้ตัดสินที่ไล่เพื่อนร่วมทีมของเขาออกด้วยการแย่งใบแดงมาแล้วชูใส่ผู้ตัดสิน ในเกมพบกาลาตาซาราย
“เขาเอามัน (ใบแดง) มาจากมือของผู้ตัดสิน มันหล่นลงบนพื้น เขาหยิบขึ้นมาแล้วชูใส่ผู้ตัดสินพร้อมกับบอกว่า มึงนั่นแหละที่ต้องออกไป” แยนเซน ย้อนเหตุการณ์
“หลังจากนั้นเขาก็โดนใบแดงและเดินออกจากสนามด้วยท่าทีว่า เออ ๆ แล้วแต่มึงเลย”
“จากสิ่งที่เขาทำใบแดงนั้นแสดงให้เห็นอะไรมากเลยทีเดียว มันเป็นบางอย่างที่สำคัญ”
แม้ว่าสุดท้ายมันจะทำให้ทีมต้องพบกับความพ่ายแพ้ หลังโดนลูกจุดโทษในนาทีสุดท้าย แต่การกระทำของเดอร์ซุนกลับได้รับการยกย่องจากชาวเมือง ในวันที่ทีมกลับถึงเมืองแทร็บซอน มีผู้คนมากมายพร้อมกับใบแดงในมือมารอรับเขาพร้อมกับบอกเขาว่า “แทร็บซอนภูมิใจในตัวคุณ”
“เขาเป็นตัวแทนของการตอบโต้ของเมือง และเป็นการยืนหยัดต่อการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมที่ทำต่อเมืองของเรา” อาห์เหม็ด เมติน เกนซ์ นายกเทศมนตรีของเมือง กล่าว
เหตุการณ์วันนั้นยังถูกนำไปสร้างเป็นอนุสาวรีย์ในเมือง รวมถึงมีการเปลี่ยนชื่อถนนเป็นถนนเดอร์ซุน เพื่อเป็นเกียรติให้กับความกล้าหาญของเขา
หลังจากนั้นการเจอกันระหว่างแทร็บซอนสปอร์และทีมจากอิสตันบูลก็มักจะเต็มไปด้วยความรุนแรงและความโกลาหล จนทำให้บางเกมแข่งไม่จบ แถมยังลุกลามออกไปนอกสนามในระดับที่รถบัสของทีมเยือนถูกยิงบนทางด่วน
“ผู้คนนอกแทรบซอนมักจะถามว่า ‘ทำไมชายพวกนี้ต้องเครียดขนาดนั้น ?’ ผมจำที่คนหนึ่งพูดได้ว่า ‘พวก แกจะทำยังไงถ้ามีโจรอยู่ในบ้านของแก’ มันเป็นความรู้สึกแบบนั้นแหละ” แยนเซน อธิบาย
“มันเป็นการผสมกันของความโกรธ ความเดือดดาล และความเสียใจอย่างสุดซึ้ง”
ก่อนที่ในฤดูกาล 2021-2022 พวกเขาจะมีโอกาสเอาคืน
โทรฟี่ที่รอคอย
ผ่านไปหนึ่งทศวรรษหลังฤดูกาลแห่งความขมขื่น แทร็บซอนสปอร์ ก็กลับมายืนในจุดเดิมได้อีกครั้งในซีซั่น 2021-2022 หลังออกสตาร์ทได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยผลงานไร้พ่าย 15 นัด
และเมื่อผ่านไปครึ่งฤดูกาลพวกเขาก็ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูงและครองตำแหน่งไว้อย่างเหนียวแน่น มาจนถึงนัดตัดสิน นัดที่ 35 ของฤดูกาลที่เปิดบ้านรับการมาเยือนของ อัลตาลสปอร์ ที่รั้งอยู่กลางตารางในขณะนั้น
แม้ว่าแทร็ปซอนสปอร์จะต้องการเพียงแค่ผลเสมอก็จะลอยลำ แต่มันก็ไม่ได้เป็นงานง่าย เมื่ออัลตาลสปอร์คือทีมที่ยัดเยียดความพ่ายแพ้นัดแรกของฤดูกาลให้แก่พวกเขา มันจึงเป็นเกมที่เต็มไปด้วยควมตึงเครียดและกดดัน
“นี่อาจจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตสำหรับคนอีกหลายคน ดังนั้นเรากำลังมีประสบการณ์ที่เต็มที่ที่สุด” ยาคุบ
ทว่าหลังเริ่มเกมไปเพียง 3 นาที เจ้าบ้านก็เป็นฝ่ายออกนำอย่างรวดเร็วจาก อันเดรียส คอร์เนลิอุส ดาวยิงร่างโย่งชาวเดนมาร์ก แต่ครึ่งหลังนาทีที่ 51 อัลตาลสปอร์ก็มาตามตีเสมอและมีโอกาสพลิกขึ้นนำในอีก 5 นาทีต่อมาหลังได้จุดโทษ
แต่ อูเกอร์คาน คาเคอร์ นายด่านของแทร็บซอนสปอร์ ไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น เขาเซฟจุดโทษเอาไว้ได้สำเร็จ ก่อนที่นาทีที่ 61 เจ้าบ้านจะออกนำอีกครั้งจาก ดูรูกาน โตกอซ กองกลางทีมชาติตุรกี
จากนั้นกลายเป็นอัลตาลสปอร์ที่โหมบุกหนักหวังยิงประตูตีเสมอ ก่อนจะมาประสบความสำเร็จจาก ฮาจี ไรท์ และทำให้เวลาที่เหลืออยู่กลายเป็นความกดดันของเจ้าบ้าน เพราะถ้าหากพลาดท่าเสียประตูก็อาจจะทำให้แชมป์ที่พวกเขารอคอยต้องเลื่อนออกไป
อย่างไรก็ดีนาทีที่ 90+3 เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อมีแฟนบอลบางส่วนคิดว่าเกมจบแล้วพากันกรูลงไปในสนามจนทำให้การแข่งขันต้องหยุดชั่วคราว และถ้าหากพวกเขาเคลียร์คนไม่ได้ก็อาจจะทำให้ผู้ตัดสินยกเลิกเกมนี้ และทำให้แทร็บซอนสปอร์ถูกตัดแต้ม
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แฟนบอลบนอัฒจันทร์พากันตะโกนเรียกเพื่อนพวกเขาให้กลับขึ้นมาบนอัฒจันทร์ เพราะหากจบลงด้วยการตัดแต้มมันคงจะเป็นฝันร้ายไปอีกนาน
แต่สุดท้ายพวกเขาก็เคลียร์คนทันและเกมกลับมาแข่งต่อได้ อีกเพียงไม่กี่อึดใจผู้ตัดสินก็เป่านกหวีดจบการแข่งขัน ซึ่งหมายความว่าแชมป์ลีกตุรกีคือแทร็บซอนสปอร์
จากนั้นมันก็กลายเป็นภาพแห่งความสุดเหวี่ยง เมื่อแฟนบอลหลายหมื่นต่างกรูลงมาฉลองชัยในสนาม พวกเขาดีใจกันอย่างบ้าคลั่ง บางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวร่ำไห้ด้วยความรู้สึกตื้นตัน เพราะนี่คือแชมป์แรกของพวกเขาหลังจากรอคอยมานานกว่า 38 ปี
หลายคนพยายามเก็บชิ้นส่วนในสนามไปเป็นที่ระลึก เพราะมันอาจจะเป็นแค่ไม่กี่ครั้งในชีวิต และทำให้ทั้ง ดิน หญ้า และตาข่าย ถูกตัดไปจนเหี้ยน
เพราะมันไม่ใช่แค่การคว้าแชมป์ลีกแต่เป็นการปลดเปลื้องความรู้สึกและความอัดอั้นใจที่ต้องแบกรับในฐานะตัวร้ายของส่วนกลางมาอย่างยาวนาน รวมทั้งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาก็มีดีพอที่จะประสบความสำเร็จ แม้จะไม่ได้มีเงินถุงเงินถังก็ตาม
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสะท้อนให้เห็นว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย และบางอย่างก็ไม่ได้ถูกผูกขาดให้กับเฉพาะชนชั้นนำเท่านั้น และทำให้ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง
“เป็นความจริงที่ทีมนี้ไม่ได้เป็นผู้เริ่มต้นการก่อตั้งลีก แต่พวกเขาก็สามารถคว้าแชมป์ด้วยทรัพยากรที่น้อยกว่า นั่นเป็นมากกว่าเรื่องราวที่สวยงามในสายตาของผม” แยนเซน
“ผมคิดว่ามันสำคัญต่อคนที่สนใจในทีมอื่น แน่นอนว่าไม่ใช่ทีมใหญ่ เราต้องการความหลากหลาย เราต้องการทีมใหม่ เราต้องการเรื่องราวใหม่ ๆ เราต้องการเมืองใหม่ ๆ”
“ฟุตบอลต้องการแชมป์นอกเหนือจากทีมใหญ่ เพราะว่ามันมีเรื่องราวมากมายให้เล่า มีแฟนบอลมากมายที่จะได้เรียนรู้”
“ตอนที่ทีมที่ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งลีกคว้าแชมป์ได้ ความรู้สึกที่ระเบิดออกมามันแตกต่างออกไป และเราก็จะได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดของฟุตบอล นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ”